บทที่ 4 การประกอบชุดปลายสาย

หลังจากที่เราเรียนรู้เงื่อนสำหรับผูกตัวเบ็ดและเงื่อนสำหรับผูกลูกหมุนกันไปแล้วในบทที่3 ตอนนี้เราก็พร้อมแล้วสำหรับการประกอบชุดปลายสายเพื่อใช้ตกปลา ในบทที่4 นี้ผมแบ่งชุดปลายสายออกเป็น 2 แบบหลักๆรายละเอียดอย่างกว้างๆก่อนและในบทถัดๆไปจะสอนแบบอื่นๆเพิ่มเติมและเจาะจงขึ้น ชุดปลายสาย 2แบบที่ว่านั่นก็คือ แบบหน้าดิน และ แบบทุ่นลอย  ถ้าพร้อมแล้วไปทำความรู้จักกันเลยครับ

การประกอบชุดปลายสาย

1.ชุดปลายสายแบบหน้าดิน

การประกอบชุดปลายสายแบบหน้าดิน คือ การใช้ตะกั่วถ่วงเหยื่อให้จมอยู่ที่หน้าดิน การเลือกใช้ตะกั่วในกรณีที่น้ำไหลเราต้องประเมินว่าควรใช้ตะกั่วที่น้ำหนักประมาณเท่าใดจึงจะเหมาะสมกับกระแสน้ำและอุปกรณ์คันเบ็ดของเรา เช่น เราประเมินแล้วว่าน้ำไหลขนาดนี้ต้องใช้ตะกั่ว 30กรัมแต่คันเบ็ดเรามันอ่อนหรือเล็กเกินไปก็จะทำให้เราเหวียงไม่ได้ เราก็ควรเปลี่ยนคันเบ็ดใหม่ เป็นต้น

หลังจากนั้นให้เลือกใช้ขนาดของตัวเบ็ดให้สัมพันธ์กับขนาดและชนิดของปลาเป้าหมายของเราว่ามีขนาดปากเล็กหรือใหญ่  เช่น ถ้าเป็นปลาที่มีขนาดปากเล็กก็ควรใช้ตัวเบ็ดที่เล็ก เพราะถ้าใช้ตัวเบ็ดใหญ่กับปลาปากเล็ก ปลาจะไม่สามารถอมตัวเบ็ดที่เกี่ยวเหยื่อเข้าไปได้

แต่ถ้าปลาที่มีปากใหญ่แต่ใช้ตัวเบ็ดที่เล็กเกินไป จะทำให้หลุดได้ง่ายๆเพราะด้วยตัวเบ็ดขนาดเล็กมีหน้าเบ็ดที่แคบจึงทำให้เกี่ยวเนื้อบริเวณปากปลาได้เพียงเล็กน้อย  จึงอาจจะทำให้เนื้อบริเวณนั้นฉีกขาดได้ง่าย ฉะนั้นเราจึงควรใชเบ็ดตัวใหญ่ที่เหมาะกับปลานั้นๆ

ถัดมาคือเรื่องความยาวของสายหน้า , สายชิ่ง ,สายรีดเดอร์ ก็จะใช้ความยาวประมาณ ที่ 1 – 2 ฟุต ความยาวนี้เป็นความยาวแบบกลางๆนะครับ เพราะในแต่ละชนิดของปลาก็จะใช้ความยาวที่แตกต่างกันไปผมจะขออธิบายเพิ่มเติมในบทต่อๆไป

 

วิธีประกอบ

1. ตะกั่ว   2. ลูกปัด   3.ตัวหมุน   4.สายหน้า   5. ตัวเบ็ด

2.ชุดปลายสายแบบทุ่นลอย

ทุ่นลอย คือ การผยุงเหยื่อให้อยู่กลางน้ำเพื่อให้ปลากลางน้ำเห็นเหยื่อของเรา

การประกอบทุ่นลอย เราควรเลือกตะกั่วที่เหมาะสมกับทุ่น โดยที่ตะกั่วจะต้องไม่ถ่วงทุ่นจนจม หลังจากนั้นเราก็จะมาเลื่อนตัวหยุดทุ่นให้ลึกพอเหมาะกับความลึกที่ปลาอาศัยอยู่

โดยใช้สายหน้าความยาวประมาณ 15 cm – 30 cm แล้วแต่ชนิดของปลา

วิธีประกอบ

1. ลูกปัด   2. ทุ่นลอย   3.ตะกั่ว   4.ลูกปัด   5. ตัวหมุน  6. สายหน้า   7. ตัวเบ็ด

 

ไม่ยากเลยใช่ไหมครับสำหรับการประกอบชุดปลายสายทั้ง 2 แบบ และที่ผมกล่าวมาด้านบนนั้นเป็นความรู้พื้นฐานเท่านั้น การนำไปใช้ควรปรับให้เข้ากับพื้นที่และชนิดของปลาด้วยนะครับ ตอนนี้คิดว่าก็น่าจะพร้อมสำหรับตกปลากันแล้ว ลองหยิบเบ็ดแล้วออกไปลุยกันเลย